การใช้พลังงานในอดีต
แต่เดิมมนุษย์มีพียงอาหารเท่านั้นที่เป็นแหล่งพลังงาน โดยปริมาณที่แต่ละคนได้รับในแต่ละวันเทียบเท่ากับความร้อนเพียง 2,000 กิโลแคลอรี ต่อมามนุษย์เริ่มรู้จักไฟโดยมีการใช้ไฟทำให้อาหารสุก รู้จักใช้แรงงานสัตว์ในการเพาะปลูกและเริ่มใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในการทำกิจกรรมต่างๆเช่น ผลิตอาวุธสำหรับล่าสัตว์ และป้องกันตัว ในยุคนี้ความจำเป็นในการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ในศตวรรษที่ 1 มนุษย์เริ่มรู้จักทำกังหันวิดน้ำซึ่งมีกำลังเพียงประมาณ 0.3 กิโลวัตต์เท่านั้น ต่อมาศตวรรษที่ 4 สามารถเพิ่มกำลังได้เป็น 2 กิโลวัตต์ ในศตวรรษที่ 12 เริ่มรู้จักใช้กังหันลมเพื่อยกของหนัก สูบน้ำ และบดเมล็ดธัญพืช อย่างไรก็ตาม จนถึงยุคก่อนศตวรรษที่ 18 ความต้องการใช้พลังงานก็ยังนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับปัจจุบันมีการใช้พลังงานเพียง 12,000 กิโลแคลอรีต่อคนต่อวันเท่านั้น และแหล่งพลังงานในสมัยนั้นก็ยังจำกัดอยู่ที่ไม้ และพลังน้ำในรูปของกังหันน้ำ ซึ่งมีใช้กันมากในประเทศอังกฤษ
มนุษย์เริ่มใช้พลังงานในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ และเริ่มมีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงแทนไม้ และใช้กังหันน้ำและลม ขณะที่ปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ความต้องการใช้พลังงานจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีค่าเฉลี่ยต่อคนต่อวันเท่ากับ 24,000 กิโลแคลอรี
ต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีการค้นพบปิโตรเลียม ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงพลังงานที่มีคุณสมบัติอเนกประสงค์ สามารรถใช้ให้แสงสว่าง ใช้ผลิตไฟฟ้า ใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ที่มีการสันดาปภายใน นอกจากนี้การขนส่งน้ำมันยังทำได้ง่ายกว่าการขนส่งถ่านหิน ดังนั้นปิโตรเลียมจึงถูกใช้แทนถ่านหิน ในระยะต่อมามีการใช้ปิโตรเลียมในเครื่องยนต์ และใช้ผลิตฟ้า ทำให้มีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในประเทศตะวันตก และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การใช้พลังงานของมนุษย์โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก และอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยรับเอารูปแบบการใช้ชีวิตของชาวตะวันตกมาเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ปริมาณความต้องการพลังงานในประเทศเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มนุษย์ในยุคนี้ใช้พลังงาน 240,000 กิโลแคลอรีต่อคนต่อวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น